โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

โรคต้อกระจก


เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ดวงตาที่ถูกใช้งานมานานหลายสิบปีย่อมเสื่อมลง อย่างเลนส์ตาธรรมชาติที่ทำหน้าที่รับแสงมานานก็จะเกิดสีขุ่นขึ้นจนกลายเป็นสีเหลือง สีชา หรือกลายเป็นสีขาวขุ่นๆ ซึ่งนั่นคือต้นเรื่องของโรคต้อกระจก ที่ผู้สูงวัยในอายุ 50 ปีขึ้นไปควรระวัง รวมไปถึงผู้ที่ยังอายุไม่มากแต่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นตาต้อกระจกก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้น
ลักษณะอาการ
เพราะเลนส์ตามีความขุ่นมัวมากขึ้น ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอก หรือมีควันขาวๆ บัง สายตา การโฟกัสไม่ดีเหมือนเดิม ในผู้ป่วยต้อกระจกบางชนิดอาจมีอาการแพ้แสง และหากต้อกระจกเข้มมากจนสุก ก็จะบังลูกตาจนสูญเสียการมองเห็นได้
โรคต้อหิน


แม้จะเป็นโรคตาที่พบได้น้อยกว่าต้อกระจก แต่ก็นับว่าเป็นอีกภัยเงียบ ที่อาจนำไปสู่การ สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ โรคต้อหินเกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา อาจเกิดในผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน หรือในผู้ที่สายตาสั้นมากๆ ป่วยเป็นเบาหวาน หรือเคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน
ลักษณะอาการ
มักไม่มีอาการในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มสูญเสียลานสายตา การมองเห็นจะค่อยๆ จำกัดวงแคบลง จากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อยๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ยังมีต้อหินบางประเภทที่มีอาการปวดมาก เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ หรือมีอาการตาแดง
โรคจอประสาทตาเสื่อม

เป็นภาวะที่จุดรับภาพที่อยู่ตรงส่วนกลางของจอตาเกิดการเสื่อมขึ้น ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง แต่บริเวณรอบข้างยังสามารถมองเห็นได้เป็นปกติ อาจเกิดจากการเสื่อมไปตามช่วงอายุที่มากขึ้น แสงยูวี การสูบบุหรี่ หรือมีระดับความดันโลหิตสูง
ลักษณะอาการ
ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อจอตาเริ่มเสื่อมมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงบริเวณกลางภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย
โรคต้อลม

ต้อลมเป็นอีกหนึ่งโรคตาที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว ตัวต้อจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาวหรือเหลืองตรงบริเวณเยื่อบุตาขาว มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ซึ่งหากไม่ได้รับการป้องกันก็อาจจะลุกลามกลายเป็นแผ่นเนื้อบดบังบริเวณกระจกตาดำ หรือที่เรียกว่า “ต้อเนื้อ” นั่นเอง
ลักษณะอาการ
ในช่วงแรกเริ่มมักไม่มีอาการ แต่เมื่อต้อลมมีการอักเสบมากขึ้นจะทำให้มีอาการเคืองตา คันตา สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา ร่วมกับการป้องกันไม่ให้โดนแดดโดนลมด้วยการสวมแว่นกันแดด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจจะลุกลามกลายเป็นแผ่นเนื้อบดบังบริเวณกระจกตาดำ หรือที่เรียกว่า “ต้อเนื้อ” นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม


สอบถามเพิ่มเติม
งานการพยาบาลจักษุ
โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
โทรศัพท์
056-704120 ต่อ 106
086-4349399