รู้ทัน ป้องกัน โรคเบาหวาน ขึ้นจอประสาทตา ก่อนสูญเสียการมองเห็น

เมื่อเวลาผ่านไป โรคเบาหวานอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง จากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายรวมถึง "ดวงตา" ด้วย
เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร?

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือดจากภาวะน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล ซึ่งเกิดกับเส้นเลือดที่เลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งเส้นเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาด้วย เมื่อเส้นเลือดมีความเสื่อมลง ทำให้เกิดการรั่วซึมของสารน้ำหรือไขมัน หรือเลือด บริเวณจอประสาทตา หรืออาจเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาบวม หรือเซลล์ประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยงบางจุด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตามัวลง
ในบางรายที่มีการปริแตกของเส้นเลือด ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา จนทำให้เห็นจุดดำลอยฟุ้งกระจายในตา มีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทดแทนในส่วนที่เสียหายไป แต่เส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็เปราะแตกง่าย เสียหายซ้ำๆ เป็นรอยแผลจนทำให้เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดหรือหลุดลอก ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรือตาบอดได้
อาการของ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา
ในระยะแรกของผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ อาจไม่ทราบเลยว่าตนเองเริ่มมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เนื่องจากในระยะแรกนั้นไม่มีอาการผิดปกติเลยจนระยะของโรคลุกลามมากขึ้น
ตามัวลง
จากหลอดเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาเสื่อมลง มีการรั่วซึมของน้ำเลือดหรือไขมัน ทำให้จอประสาทตาบวม หากจุดบวมน้ำเกิดบริเวณจุดรับภาพจะทำให้การมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็ว


มองเห็นจุดดำลอยในตา
เกิดจากการปริแตกของหลอดเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตา มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา ทำให้มองเห็นจุดดำๆ ลอยในตา หรือจอประสาทตาบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อมหรือตายเป็นบางจุด
มองเห็นแสงฟ้าแลบหรือเงาดำบดบังการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดของภาพ
เกิดจากมีการหลุดลอกหรือฉีกขาดของจอประสาทตา จากการดึงรั้งของพังผืดที่จอตา การมองเห็นจะลดลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้นานจอประสาทตาบริเวณดังกล่าวจะสูญเสียการทำงานอย่างถาวร
ระยะของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
แบ่งเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรค ได้แก่: -
ระยะต้น ยังไม่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่
(Non-Proliferative Diabetic Retinopathy)
ตรวจพบผนังหลอดเลือดบางส่วนผิดปกติ มีการโป่งพอง อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ มีการรั่วของสารน้ำจากหลอดเลือด เกิดภาวะจอประสาทตาบวมน้ำได้ แต่ยังไม่พบหลอดเลือดฝอยงอกใหม่

ระยะก้าวหน้า มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่
(Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ PDR)
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกตินานๆ ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อม เกิดภาวะปริแตก หรืออุดตัน จอประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง กระตุ้นให้จอประสาทตาสร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ โดยเส้นเลือดใหม่นี้ก็ไม่สมบูรณ์แข็งแรงพอ ทำให้เกิดการปริแตกเป็นแผลซ้ำๆ เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก หรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาอย่างรุนแรงได้
ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
จอประสาทตาบวม
จากการรั่วซึมของสารน้ำในหลอดเลือดที่ปริแตกหรืออุดตัน ทำให้จอประสาทตาบวม โดยเฉพาะในรายที่มีการบวมบริเวณจุดรับภาพ จะทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว
เลือดออกในน้ำวุ้นตา
จากการปริแตกของหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีเลือดออก หากมีปริมาณไม่มาก อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นจุดดำลอยไปมา แต่หากเลือดออกในปริมาณมาก อาจบดบังการมองเห็นได้
จอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอก
เกิดจากเส้นเลือดบริเวณจอประสาทตาที่สร้างใหม่เกิดการปริแตกซ้ำๆ จนเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดหรือหลุดลอกได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเห็นแสงคล้ายฟ้าแลบ หรือจุดดำบังภาพบางส่วนหรือทั้งหมด

ต้อหิน
เป็นผลจากการงอกใหม่ของเส้นเลือดในตา รบกวนการระบายของน้ำหล่อเลี้ยงตา ส่งผลให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เกิดภาวะต้อหินได้
สูญเสียการมองเห็น
ในภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือภาวะแทรกซ้อนจากต้อหิน จะมีการทำลายของเซลล์ประสาทตาและขั้วประสาทตา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องถูกวิธี อาจส่งผลให้นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
การป้องกันและการรักษา
- ในผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานแม้จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ควรตรวจตาเพื่อตรวจจอประสาทตาปีละครั้ง
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ไม่เกิน 110 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์) ในผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
- หากมีอาการตามัว เห็นจุดดำลอยในตา มองเห็นเงาดำหรือแสงฟ้าแลบในตาให้รีบมาพบจักษุแพทย์ทันที
- ควบคุมหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
- รับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด และตรวจติดตามนัดอาการตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
อ่านเพิ่มเติม


สอบถามเพิ่มเติม
งานการพยาบาลจักษุ
โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
โทรศัพท์
056-704120 ต่อ 106
086-4349399